วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

ห้องเรียนของวันพรุ่งนี้ (Classroom of Tomorrow)

ห้องเรียนของวันพรุ่งนี้ (Classroom of Tomorrow)
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง
ผอ.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
          หากให้ผู้อ่านจินตนาการภาพของห้องเรียน ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่คงวาดภาพของ
ห้องสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัด ที่หน้าห้องอาจมีครูยืนอยู่ ใกล้ๆ กับ กระดานสีเขียว (ดำ หรือ ขาว)
ภายในห้องเรียน คลาคล่ำไปด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และ อาจมีภาพของนักเรียนที่นั่งอยู่และคอยฟังครูผู้สอน
อย่างตั้งใจ ภาพห้องเรียนที่เราเคยพบเห็นจนชินตาดังกล่าวนั้น กำลังจะเป็นภาพที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้
เพราะ ในปัจจุบันได้เกิดความพยายามจากนักการศึกษาทั้งต่างประเทศ และในประเทศไทยเราที่
ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการศึกษาเรียนรู้ การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่
ตอบสนองต่อวิถีสังคม/ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา บนฐานแห่งความรู้
(knowledge-based society/economy) ซึ่งมุ่งเน้น การมี และการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ โดย
อาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม
ต่างๆ
          การก้าวเข้าสู่ ยุคแห่งสารสนเทศ นี้ ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและ
วิธีการในการศึกษา การเรียน การสอน การเรียนรู้ ของคนในสังคมเพื่อให้เท่าทันต่อการ
เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งรูปแบบและวิธีการศึกษาเรียนรู้ในยุคหน้า จะมีลักษณะที่แตกต่างจากการ
เรียนการสอนในลักษณะเดิม โดยนักการศึกษาในปัจจุบันเรียกการศึกษารูปแบบใหม่นี้ว่า
Unconventional Education หรือ การศึกษาที่แตกต่าง ซึ่งก็คือ ความแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ
(Traditional Education) นั่นเอง โดยนิยามของคำว่า การเรียนรู้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป การเรียนรู้
จะไม่ใช่แค่การจำ เข้าใจเนื้อหา หรือ การทำข้อสอบได้ดี หากจุดมุ่งเน้น ได้แก่ การที่ผู้เรียนมี
ความสามารถในการเข้าใจในวิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) ของตนเองได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ และ อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต การพัฒนาความสามารถในการสร้างองค์ความรู้จาก
การลงมือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ในบริบทของประสบการณ์จริง อย่างกระตือรือร้น นอกจากนี้
ยังมุ่งเน้น ในด้านของทักษะของผู้เรียนในการรู้จักเลือก ที่จะรวบรวมและจัดเก็บเฉพาะองค์ความรู้ที่
มีประโยชน์ การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดังกล่าว ความสามารถในการเลือกที่จะเรียนรู้สิ่ง
ใหม่ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความรู้เดิม หรือ สิ่งที่ผู้เรียนสนใจศึกษา นอกจากนี้ การเรียนรู้
ในลักษณะนี้ ควรที่จะเกิดจากความร่วมมือกันของกลุ่มผู้เรียน และ/ หรือ ผู้สอน ถือ เป็นกิจกรรม
ทางสังคมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องมุ่งเน้นส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ควรมุ่งเน้นในเรื่องของ
การแข่งขัน(กันเรียน)แต่อย่างใด
      หลักสำคัญ 4 ประการ ของการเรียนรู้ด้วยวิธีการ Unconventional Education ได้แก่
      1. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งวิธีนี้ ผู้เรียนจะเป็นผู้ควบคุม
การเรียนรู้ของตนเอง อำนาจและความรับผิดชอบในการเรียนจะอยู่ที่ผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ โดยมี
ครูผู้สอนเป็นผู้สนับสนุน สร้างฐานการเรียนรู้แก่ผู้เรียน คอยชี้แนะการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่
ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจเกี่ยวกับ การเรียนรู้ของตนเอง รู้จักที่จะประเมินตนเอง
     2. การเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ทั้งนี้ กิจกรรมการเรียนรู้จะต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้
อย่างสนุกสนาน ท้าทาย และเพลิดเพลิน การเรียนรู้อาจอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่ม สมาชิกของกลุ่ม
ผู้เรียนมีอิสระ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกัน โดยทำงานด้วยกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน
ผู้เรียนจะต้องเต็มใจที่จะช่วยซึ่งกันและกันในการแบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนทักษะและแนวคิดกัน
ผู้เรียนจะต้องแข่งขันกับความสามารถเดิมของตน ไม่ใช่แข่งกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
     3. การบูรณาการ ICT ในการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ อย่างไรก็ดี สาระที่สำคัญ
ที่สุดของการบูรณาการ ICT แบบ Unconventional Education ได้แก่ การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝน
ทักษะในการสืบเสาะ สืบค้น การติดต่อสื่อสาร การแสดงออกด้านต่างๆ และ การสร้างสรรค์ผลงาน
โดยอาศัยเทคโนโลยี ICT อันได้แก่ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการ
สื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ
     4. การสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม จากการวิจัยทางด้านสมอง สามารถสรุปได้
ว่า สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของสมองของมนุษย์ ได้แก่ สมองที่มีลักษณะของการตื่นตัวแบบผ่อน
คลาย (relaxed alertness) จึงเป็นหน้าที่สำคัญ ของผู้สอนในการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้
เหมาะสม เพื่อให้สมองของผู้เรียนอยู่ในภาวะที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ได้ดีที่สุด รวมถึง การ
ส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การจัดแสง สี อุณหภูมิห้อง เฟอร์นิเจอร์ หรือ กลิ่น
ก็ตาม ให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของการเรียนด้วยวิธี
Unconventional Education นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาพของห้องเรียนสี่เหลี่ยมในลักษณะเดิม
ทั้งนี้เพราะ การเรียนรู้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา คำว่า ห้องเรียนจะขยายขอบเขตจากเดิม ออก
ไปสู่โลกภายนอก ตามบริบทจริงที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้นๆ โดยโลกภายนอกนั้น อาจเป็นโลก
ภายนอกจริงๆ หรือ โลกเสมือนจริง ก็ได้
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้นำในด้านการพัฒนา
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียม
ความพร้อมของชุมชนในการก้าวไปสู่การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา
ห้องเรียนของวันพรุ่งนี้ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning Innovation Center) ขึ้น
เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบของการสาธิตวิธีการเรียนรู้ รวมถึง
ห้องเรียนแห่งอนาคต เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และ นักเรียน นักศึกษา ได้มีโอกาส
ในการปรับตัวสู่การเรียนรู้ในลักษณะใหม่ โดยกิจกรรมของศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จะมีการ
จัดการอบรม สัมมนา ในหลักสูตรเนื้อหาในศาสตร์ต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์
คณิตศาสตร์ ด้วยวิธีการ 4 ประการ ของ Unconventional Education โดยหลักสูตรเริ่มต้นจะเน้น
ผู้เรียนในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 (ประถมศึกษา 1-6) สนใจรายละเอียด สามารถติดต่อได้ที่
itsc@chiangmai.ac.th หรือ เว็บไซต์ itsc.cmu.ac.th โทรศัพท์ 053-943811 แฟ็กซ์ 053-943818/
216747

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น