วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนรูปแบบและทฤษฎีการเรียนรู้แห่งอนาคต รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง

1
การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนรูปแบบและทฤษฎีการเรียนรู้อนาคต
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง
ผอ.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ในขณะที่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
แต่การพัฒนาของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้กลับมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างค่อยเป็นค่อย
ไป สังเกตได้จากปริมาณที่จำกัดของข้อค้นพบ หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ อันเกิดจากงานวิจัย ซึ่ง
ครอบคลุม หลักการ ทฤษฎี และ นวัตกรรมรูปแบบการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการ
เรียนรู้ของมนุษย์ ที่ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดผลต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผลของผู้เรียนในปัจจุบัน สาเหตุหลัก อาจได้แก่ ข้อจำกัดในการแสวงหาคำตอบของ
คำถามที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
เพียงมิติเดียว กอปรกับ การที่ศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง
กับ การทำงานของสมองนั้น เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานของงานวิจัย ที่มี
การดำเนินการในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมา ยังพอมีข้อค้นพบใหม่ๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
ของมนุษย์ อันมีประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน การอบรม ทั้งนี้เพื่อการ
พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
บทความนี้ จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคต ครอบคลุม การจัด
สิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นทักษะการคิดและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผ่าน
สื่อคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคม หรือที่เรียกว่า ไอซีที รวมทั้งการนำเสนอ ทฤษฎีการ
เรียนรู้ใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในยุคหน้า ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้ จะช่วยให้
ผู้รับผิดชอบในการวางแผน และดำเนินการผลิตครูผู้สอนทั้งในยุคนี้ (ครูประจำการ) และในยุคสมัย
หน้า (ว่าที่ครู) ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการปรับมาตรฐาน
การพัฒนาวิชาชีพครูให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในยุคใหม่ให้มากยิ่งขึ้น และ การปรับปรุงหลักสูตร
ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูพันธุ์ใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
รูปแบบและทฤษฎีการเรียนรู้แห่งอนาคต
ในส่วนแรกนี้ จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ รูปแบบการเรียนรู้ที่สำคัญในอนาคต ภาพ 1
แสดงให้เห็นถึง รูปแบบการเรียนรู้ 3 ลักษณะ (จากซ้ายไปขวา) ได้แก่ 1) การเรียนรู้ในลักษณะที่มี
ครูผู้สอนเป็นผู้ศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการถ่ายทอดจากผู้สอนสู่ผู้เรียน 2) การเรียนรู้
ในลักษณะที่เน้นความร่วมมือกัน กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้ง
ผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน และ/หรือชุมชนของการเรียนรู้ และ 3) การเรียนรู้ในลักษณะที่
คล้ายคลึงกันกับลักษณะที่สอง แต่มีการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ทรัพยากร
2
การเรียนรู้ แหล่งสื่อต่างๆ ทั้งในรูปดิจิตัลและไม่ใช่ดิจิตัล รวมถึงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
ในลักษณะที่สร้างฐานความรู้ให้แก่ผู้เรียน (knowledge scaffolding)
ภาพ 1: ภาพแสดงการเปรียบเทียบรูปแบบการเรียนรู้ใน 3 ลักษณะ
แนวโน้มของรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตนั้น ได้แก่ การผสมผสานระหว่างรูปแบบการ
เรียนรู้ทั้ง 3 ลักษณะอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญได้แก่ ความพยายามของครูผู้สอน (และผู้เรียน) ในการ
ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอนและการเรียนรู้จากรูปแบบที่ 1 มาสู่รูปแบบที่ 2 และ 3 ให้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการสอนและการเรียนรู้ในลักษณะที่ 3 นั้นเป็นรูปแบบที่ครูผู้สอน
จำเป็นต้องให้ความสนใจ เพราะ มีหลักฐานงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า เป็นรูปแบบการเรียนรู้
ที่มีประสิทธิภาพมากหากผู้สอนมีการออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ
กัน พร้อมไปกับการจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ และการสร้างฐานความรู้ให้กับผู้เรียนที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี การจัดรูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะที่ 3 นั้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะด้านไอซีทีที่
เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการพัฒนาสื่อ การจัดหาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้กับผู้เรียน ดังนั้นการพัฒนาทักษะ
ด้านไอซีทีแก่ผู้สอน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต สำหรับผู้เรียนนั้น ทักษะด้านไอซีทีอาจ
ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะ ผู้เรียนในอนาคต1 จะสามารถปรับตัวกับรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตได้
อย่างรวดเร็ว(กว่าผู้สอน) เนื่องจากความเคยชินจากสังคมรอบตัวที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา
ในการพัฒนาทักษะครูผู้สอนด้านไอซีทีนั้น นอกจากในการอบรมทักษะให้ครูผู้สอน
สามารถสร้างและ/ หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเนื้อหาการเรียนรู้ในรูปดิจิตัลแล้ว ครูผู้สอน
ควรมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้ ศักยภาพของการนำไอซีทีไปใช้ในลักษณะของ
เครื่องมือ (tool) การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ซึ่งเน้นทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียนตัวอย่าง เช่น
การใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้เรียน เพื่อน และผู้สอน เกิดการปฏิสัมพันธ์ อภิปราย แลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นเชิงวิพากษ์อย่างยืดหยุ่น โดยไม่จำกัดด้านเวลาและสถานที่ หรือ การออกแบบกิจกรรม
การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่เน้นทักษะกระบวนการคิดผ่านทางการใช้ไอซีที เช่น การสรุปความคิด
1 ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนในยุคทวีนนี่ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงที่การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นทีแพร่หลายแล้ว ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับ
ผู้เรียนในยุคทวีนนี่ ได้ จากตอน 2 ของบทความ การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนคุณลักษณะที่จำเป็นของผู้เรียนยุคทวีนนี่ (Tweenies)
3
รวบยอดโดยใช้ซอฟต์แวร์ช่วยการวางแผน หรือ การคิดวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ จากโปรแกรม
ฐานข้อมูลด้านต่างๆ เป็นต้น
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญของอนาคต
ในส่วนนี้ จะขอกล่าวถึง ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญในอนาคต 3 ทฤษฎี อันได้แก่
1) การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2) การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based
Learning) และ 3) ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism)
1) การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ทฤษฎี การเรียนรู้แบบร่วมมือกัน เกิดจากแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการเรียน
จากครูผู้สอนเท่านั้น หากเกิดจาก การที่ผู้เรียนร่วมมือกับผู้สอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง กับเพื่อน
หรือกับชุมชนการเรียนรู้ของตน ภายใต้เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน ตาราง 1 เปรียบเทียบทฤษฎีการ
เรียนรู้แบบดั้งเดิม กับ การเรียนรู้แบบร่วมมือกันที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี คงต้องย้ำใน
ที่นี้ว่า บทความนี้ไม่ต้องการนำเสนอความคิดที่ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แบบดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ล้าสมัย
และไม่ควรนำไปใช้ หากแต่ครูผู้สอนที่ดี ควรรู้จักเลือกผสมผสานระหว่างทั้ง 2 ทฤษฎี/ วิธีการให้
มากขึ้น หลีกเลี่ยงการสอนที่มุ่งเน้นเฉพาะลักษณะใดลักษณะหนึ่ง รวมทั้งตระหนักว่า แนวโน้มของ
ทฤษฎี การเรียนรู้ในอนาคตนั้น จะอยู่ในลักษณะของการเรียนรู้แบบร่วมมือกันที่มีผู้เรียนเป็น
ศูนย์กลาง
การเปรียบเทียบการสอนแบบดั้งเดิม และ การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การสอนแบบดั้งเดิม การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
สิ่งแวดล้อมที่ครูเป็นศูนย์กลาง สิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ครูเป็นผู้ควบคุมการเรียนการสอน ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง
ส่วนใหญ่อำนาจและความรับผิดชอบอยู่ที่ครู ส่วนใหญ่อำนาจและความรับผิดชอบอยู่ที่
ผู้เรียน
ครูเป็นผู้สอนและผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อหาการ
เรียนรู้
ครูเป็นผู้สนับสนุนและคอยแนะนำ ผู้เรียนเป็นผู้
ตัดสินใจเลือกเนื้อหาการเรียนรู้
ธรรมชาติของประสบการณ์การเรียนบ่อยครั้งอยู่
ในลักษณะของการแข่งขันระหว่างผู้เรียน
ด้วยกัน ผู้เรียนจะไม่พอใจหากผู้เรียนคนอื่น
ลอกเลียนแบบ (copy) ความคิดของตนเอง
การเรียนรู้อาจอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่ม (ร่วมมือ
กันหรือ โดยอิสระก็ตาม) ผู้เรียนทำงานด้วยกัน
เพื่อเป้าหมายร่วมกัน ผู้เรียนเต็มใจที่จะช่วยซึ่ง
กันและกันในการแลกเปลี่ยนทักษะและแนวคิด
ผู้เรียนแข่งขันกับความสามารถเดิมของตน
4
การเปรียบเทียบการสอนแบบดั้งเดิม และ การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การสอนแบบดั้งเดิม การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ลักษณะของงาน อยู่ในรูปของชุดของภาระงาน
ย่อยๆ ที่ผู้สอนกำหนดให้ ภายใต้สาระวิชาที่แยก
ออกจากกันค่อนข้างชัดเจน
ลักษณะของงานอยู่ในรูปของโครงงานหรือ
โจทย์ปัญหาจากสภาพจริง และมีการบูรณาการ
สาระวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน
การเรียนรู้เกิดขึ้นในชั้นเรียน การเรียนรู้ขยายขอบเขตจากชั้นเรียนออกไป
เนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่กระบวนการที่ผู้เรียนเกิดการ
ประมวลผล ข้อมูล สารสนเทศ และการนำผลที่
ได้จากการวิเคราะห์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ผู้เรียนได้รับความรู้จากการฝึกและการปฏิบัติ ผู้เรียนประเมิน ตัดสินใจ และรับผิดชอบการ
เรียนรู้ของตนเอง ผู้เรียนได้รับความรู้โดยการ
สร้างความรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้เนื้อหาไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตาม
บริบท
การเรียนรู้เนื้อหาการเรียนเกิดขึ้นในบริบทที่
เกี่ยวข้อง
ตาราง 1: ตารางเปรียบเทียบการสอนแบบดั้งเดิมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
2) การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based learning)
ทฤษฎีการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน2 เป็นทฤษฎีซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า คนเกิดมาพร้อมกับ
จำนวนเซลสมองที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การขยายตัวของสมองไม่ได้เกิดจากการเพิ่มจำนวนเซล
ของสมอง แต่มาจาก “ใยประสาท” สมองของคนเรานั้น มีความยืดหยุ่น หากเราใช้สมองในการ
แก้ไขปัญหา สมองก็จะมีการสร้างใยประสาทเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้ใยประสาทก็จะถูกทำลายลง
ในการประยุกต์ทฤษฎีนี้สู่การปฏิบัตินั้น คงต้องทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สมอง
กับการเรียนรู้ กล่าวคือ สมองมีการเชื่อมโยงกับอารมณ์ของคน ในขณะที่อารมณ์ของคนก็จะส่งผล
ต่อการเรียนรู้ โดยอารมณ์จะเป็นตัวช่วยเราในการเรียกความทรงจำเดิมที่เก็บไว้ในสมองออกมาใช้
สำหรับภาวะของสมองที่เหมาะสมที่สุดต่อการเรียนรู้ ได้แก่ ภาวะของสมองที่มี ความตื่นตัวแบบ
ผ่อนคลาย (Relaxed alertness) ดังนั้น ครูผู้สอนจึงมีหน้าที่ในการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้แก่
ผู้เรียนในลักษณะที่ทันสมัย เพลิดเพลิน แตท่ ้าท้ายและชวนใหห้ าคำตอบ เพื่อกระตุน้ ให้ผู้เรียนเกิด
การตื่นตัวแบบผ่อนคลาย มากกว่าความรู้สึกเครียด กังวลและกดดัน เพราะสิ่งแวดล้อมดังกล่าว อาจ
ทำให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ทางลบแก่ผู้เรียนได้ รวมทั้ง แนวคิดที่สำคัญ จากทฤษฎีการเรียนรู้โดย
ใช้สมองเป็นฐาน ได้แก่ การที่การเรียนรู้ของคนจะประสบความสำเร็จที่สุดเมื่อกิจกรรมการเรียนรู้
2 อ้างอิงจาก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) กับการสร้างเด็กเก่ง (www.se-edlearning.com)
5
เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้ เพราะคนเราจะ
จำสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำที่สุดเมื่อข้อเท็จจริงต่าง ๆ และทักษะฝังอยู่ในจากกิจกรรมในชีวิตจริงตาม
ธรรมชาติ เพราะเป็นการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ตรง
นอกจากนี้ จากการแบ่งสมองออกเป็น 2 ด้าน คือ สมองซีกซ้ายซึ่งสั่งการเกี่ยวกับ ตรรกะ
ตัวเลข การวิเคราะห์ และสมองซีกขวาซึ่งสั่งการเกี่ยวกับ ศิลปะ ดนตรี จินตนาการ การสังเคราะห์
ทำให้เราเข้าใจถึงความสามารถที่แตกต่างกันของการทำงานของสมองทั้งสองซีกของผู้เรียน ซึ่ง
ส่งผลถึงการมีสติปัญญา วิธีการ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ
การที่ผู้สอนควรมีการจัดหากิจกรรมที่บูรณาการระหว่างกิจกรรมหลายๆ รูปแบบเข้าด้วยกัน และ
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นเป็นผู้เลือกที่จะทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งตามความสามารถ ความถนัด
และความสนใจ เช่น การให้เลือกที่จะนำเสนอผลงานในรูปแบบที่ผู้เรียนมีความถนัด เช่น แต่งเรื่อง
แต่งเพลง เล่นดนตรี ผลิตสื่อนำเสนอ ทำรายงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้
ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ตามอัตราความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของผู้เรียน
3) คอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism)
ทฤษฎีการเรียนรู้ คอนสตรัคติวิสต์ เกิดจากแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนเป็น
ผู้ลงมือกระทำ และสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า การเรียนเชิงรับของผู้เรียนจากการถ่ายทอดของ
ครูผู้สอน การลงมือกระทำและสร้างสรรค์ผลงานนั้น เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมกับ
กิจกรรมการเรียนรู้นั้นๆ อย่างกระตือรือร้นจนกระทั่งผู้เรียนเกิดการสร้างความหมาย ความเข้าใจ
และในที่สุดสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่
ผู้เรียนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นเองและเป็นสิ่งเฉพาะตัว ดังนั้นการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์
จึงถือเป็นการเรียนรู้ในลักษณะที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ทฤษฎีคอน
สตรัคติวิสต์จะมุ่งเน้นการสำรวจ การแสวงหาความรู้ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และการ
คิดแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านทางกิจกรรมที่ใกล้เคียง หรือเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงๆ เพื่อให้
ผู้เรียนสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้จากชั้นเรียนไปสู่สถานการณ์จริงได้ นอกจากนี้ คอนสตรัคติวิสต์
จะเน้นการเรียนรู้ในลักษณะร่วมมือ กล่าวคือ ผู้เรียนจะต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับผู้เรียนอื่นๆ
ในการสร้างงานต่างๆ ร่วมกัน สำหรับการประเมินผลตามแนวคอนสตรัคติวิสต์นี้ จะ เน้นการให้
ผู้เรียนรู้จักประเมินผลความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเอง ร่วมไปกับการที่ผู้สอนจะต้องคอย
สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในขณะทำกิจกรรม รวมทั้งการประเมินจากพอร์ทโฟลิโอซึ่งได้แก่
ชิ้นงานต่างๆ ที่ผู้เรียนได้มีการรวบรวมไว้ ซึ่งชิ้นงานดังกล่าวจะต้องสะท้อนความสามารถที่แท้จริง
ของผู้เรียน อันที่จริง คอนสตรัคติวิสต์ ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด เพราะเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว
แต่ผลของการนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาในบ้านเรานั้น ยังค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ
ข้อจำกัดในด้านต่างๆ เช่น ขนาดของชั้นเรียน ภาระงานของครูผู้สอน ตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี เป็นต้น
6
จากที่ได้กล่าวมานั้น จะเห็นได้ชัดว่า ทฤษฎี/รูปแบบการเรียนรู้ทั้งหมด ที่ได้กล่าวถึงนั้น มี
ความคาบเกี่ยวกันอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎี/รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตเกือบทั้งหมด จะ
มุ่งเน้น ในด้านการเรียนรู้ในลักษณะร่วมมือและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการใช้สื่อที่
หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สื่อไอซีที อย่างไรก็ตาม แต่ละรูปแบบ/ทฤษฎีนั้น ก็จะมีข้อ
แตกต่างในรายละเอียดบางประการ ตัวอย่างเช่น การมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างทำ สร้างองค์ความรู้/
ชิ้นงานของทฤษฎี คอนสตรัคติวิสต์ หรือ การมุ่งเน้นในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
สำหรับผู้เรียน อันเนื่องมาจากความแตกต่างในด้านของสติปัญญา วิธีการและประสิทธิภาพการ
เรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของสมอง เป็นต้น
บทสรุป
บทความนี้ได้นำเสนอถึง รูปแบบและทฤษฏีการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้
แบบร่วมมือกันของผู้เรียน ภายใต้การที่ผู้สอนวางฐานความรู้ (knowledge scaffolding) ให้กับผู้เรียน
อย่างเหมาะสม ผ่านการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ รวมทั้ง มุ่งเน้น การออกแบบกิจกรรม
การเรียนรู้ของผู้สอน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นรูปธรรมและสามารถ
ถ่ายโอนการเรียนรู้จากชั้นเรียนไปสู่สถานการณ์จริงได้
สุดท้ายนี้ จากที่ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า ทั้ง 3 ตอน ซึ่ง
ครอบคลุม แนวคิดเกี่ยวกับ รูปแบบ/ทฤษฎีการเรียนรู้ (ที่ได้นำเสนอในบทความนี้) บทบาท และ
คุณลักษณะของผู้สอนในยุคสมัยหน้า (บทความตอน 1) และ ของผู้เรียนในยุคสมัยหน้า (บทความ
ตอน 2) ไปแล้วนั้น ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญมากที่สุด ในการปฏิรูปการศึกษา การปรับเปลี่ยน
วิธีการสอน และการเรียนรูใ้ ห้ตอบสนองกับสังคม/ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการ
เรียนรู้ในยุคสมัยหน้าที่กำลังจะตามมา (next-generation of learning) นั้น ได้แก่ ความพร้อมของ
ผู้สอน และผู้เรียน ในการตอบสนองกับวิธีการสอนและการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในการปรับ
การเรียนเปลี่ยนการสอนของทั้งผู้สอนและผู้เรียนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องอาศัย เวลา ความพยายาม
งบประมาณ รวมทั้ง ความร่วมมือร่วมใจ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สถานศึกษา ชุมชน
ผู้บริหาร รัฐบาล เป็นต้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ภาพประกอบไม่ปรากฏในบทความ ควรทำอย่างไรจึงจะได้เห็นภาพ ขอคำแนะนำด้วยครับ

    ตอบลบ