วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

ห้องเรียนของวันพรุ่งนี้ (Classroom of Tomorrow)

ห้องเรียนของวันพรุ่งนี้ (Classroom of Tomorrow)
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง
ผอ.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
          หากให้ผู้อ่านจินตนาการภาพของห้องเรียน ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่คงวาดภาพของ
ห้องสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัด ที่หน้าห้องอาจมีครูยืนอยู่ ใกล้ๆ กับ กระดานสีเขียว (ดำ หรือ ขาว)
ภายในห้องเรียน คลาคล่ำไปด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และ อาจมีภาพของนักเรียนที่นั่งอยู่และคอยฟังครูผู้สอน
อย่างตั้งใจ ภาพห้องเรียนที่เราเคยพบเห็นจนชินตาดังกล่าวนั้น กำลังจะเป็นภาพที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้
เพราะ ในปัจจุบันได้เกิดความพยายามจากนักการศึกษาทั้งต่างประเทศ และในประเทศไทยเราที่
ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการศึกษาเรียนรู้ การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่
ตอบสนองต่อวิถีสังคม/ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา บนฐานแห่งความรู้
(knowledge-based society/economy) ซึ่งมุ่งเน้น การมี และการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ โดย
อาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม
ต่างๆ
          การก้าวเข้าสู่ ยุคแห่งสารสนเทศ นี้ ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและ
วิธีการในการศึกษา การเรียน การสอน การเรียนรู้ ของคนในสังคมเพื่อให้เท่าทันต่อการ
เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งรูปแบบและวิธีการศึกษาเรียนรู้ในยุคหน้า จะมีลักษณะที่แตกต่างจากการ
เรียนการสอนในลักษณะเดิม โดยนักการศึกษาในปัจจุบันเรียกการศึกษารูปแบบใหม่นี้ว่า
Unconventional Education หรือ การศึกษาที่แตกต่าง ซึ่งก็คือ ความแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ
(Traditional Education) นั่นเอง โดยนิยามของคำว่า การเรียนรู้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป การเรียนรู้
จะไม่ใช่แค่การจำ เข้าใจเนื้อหา หรือ การทำข้อสอบได้ดี หากจุดมุ่งเน้น ได้แก่ การที่ผู้เรียนมี
ความสามารถในการเข้าใจในวิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) ของตนเองได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ และ อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต การพัฒนาความสามารถในการสร้างองค์ความรู้จาก
การลงมือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ในบริบทของประสบการณ์จริง อย่างกระตือรือร้น นอกจากนี้
ยังมุ่งเน้น ในด้านของทักษะของผู้เรียนในการรู้จักเลือก ที่จะรวบรวมและจัดเก็บเฉพาะองค์ความรู้ที่
มีประโยชน์ การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดังกล่าว ความสามารถในการเลือกที่จะเรียนรู้สิ่ง
ใหม่ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความรู้เดิม หรือ สิ่งที่ผู้เรียนสนใจศึกษา นอกจากนี้ การเรียนรู้
ในลักษณะนี้ ควรที่จะเกิดจากความร่วมมือกันของกลุ่มผู้เรียน และ/ หรือ ผู้สอน ถือ เป็นกิจกรรม
ทางสังคมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องมุ่งเน้นส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ควรมุ่งเน้นในเรื่องของ
การแข่งขัน(กันเรียน)แต่อย่างใด
      หลักสำคัญ 4 ประการ ของการเรียนรู้ด้วยวิธีการ Unconventional Education ได้แก่
      1. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งวิธีนี้ ผู้เรียนจะเป็นผู้ควบคุม
การเรียนรู้ของตนเอง อำนาจและความรับผิดชอบในการเรียนจะอยู่ที่ผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ โดยมี
ครูผู้สอนเป็นผู้สนับสนุน สร้างฐานการเรียนรู้แก่ผู้เรียน คอยชี้แนะการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่
ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจเกี่ยวกับ การเรียนรู้ของตนเอง รู้จักที่จะประเมินตนเอง
     2. การเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ทั้งนี้ กิจกรรมการเรียนรู้จะต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้
อย่างสนุกสนาน ท้าทาย และเพลิดเพลิน การเรียนรู้อาจอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่ม สมาชิกของกลุ่ม
ผู้เรียนมีอิสระ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกัน โดยทำงานด้วยกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน
ผู้เรียนจะต้องเต็มใจที่จะช่วยซึ่งกันและกันในการแบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนทักษะและแนวคิดกัน
ผู้เรียนจะต้องแข่งขันกับความสามารถเดิมของตน ไม่ใช่แข่งกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
     3. การบูรณาการ ICT ในการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ อย่างไรก็ดี สาระที่สำคัญ
ที่สุดของการบูรณาการ ICT แบบ Unconventional Education ได้แก่ การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝน
ทักษะในการสืบเสาะ สืบค้น การติดต่อสื่อสาร การแสดงออกด้านต่างๆ และ การสร้างสรรค์ผลงาน
โดยอาศัยเทคโนโลยี ICT อันได้แก่ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการ
สื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ
     4. การสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม จากการวิจัยทางด้านสมอง สามารถสรุปได้
ว่า สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของสมองของมนุษย์ ได้แก่ สมองที่มีลักษณะของการตื่นตัวแบบผ่อน
คลาย (relaxed alertness) จึงเป็นหน้าที่สำคัญ ของผู้สอนในการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้
เหมาะสม เพื่อให้สมองของผู้เรียนอยู่ในภาวะที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ได้ดีที่สุด รวมถึง การ
ส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การจัดแสง สี อุณหภูมิห้อง เฟอร์นิเจอร์ หรือ กลิ่น
ก็ตาม ให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของการเรียนด้วยวิธี
Unconventional Education นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาพของห้องเรียนสี่เหลี่ยมในลักษณะเดิม
ทั้งนี้เพราะ การเรียนรู้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา คำว่า ห้องเรียนจะขยายขอบเขตจากเดิม ออก
ไปสู่โลกภายนอก ตามบริบทจริงที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้นๆ โดยโลกภายนอกนั้น อาจเป็นโลก
ภายนอกจริงๆ หรือ โลกเสมือนจริง ก็ได้
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้นำในด้านการพัฒนา
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียม
ความพร้อมของชุมชนในการก้าวไปสู่การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา
ห้องเรียนของวันพรุ่งนี้ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning Innovation Center) ขึ้น
เป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบของการสาธิตวิธีการเรียนรู้ รวมถึง
ห้องเรียนแห่งอนาคต เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และ นักเรียน นักศึกษา ได้มีโอกาส
ในการปรับตัวสู่การเรียนรู้ในลักษณะใหม่ โดยกิจกรรมของศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จะมีการ
จัดการอบรม สัมมนา ในหลักสูตรเนื้อหาในศาสตร์ต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์
คณิตศาสตร์ ด้วยวิธีการ 4 ประการ ของ Unconventional Education โดยหลักสูตรเริ่มต้นจะเน้น
ผู้เรียนในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 (ประถมศึกษา 1-6) สนใจรายละเอียด สามารถติดต่อได้ที่
itsc@chiangmai.ac.th หรือ เว็บไซต์ itsc.cmu.ac.th โทรศัพท์ 053-943811 แฟ็กซ์ 053-943818/
216747

กว่าทศวรรษของ ICT เพื่อการศึกษา : ถึงเวลาวาระแห่งชาติ?

รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง
ผอ.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551)

เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ที่ประเทศไทยได้เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทางด้าน
เทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐบาลในขณะนั้นได้กำหนดให้ปี พ.ศ.2538 เป็นปีแห่งการพัฒนาทางด้าน
เทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ โดยเริ่มมีการวางแผนและเริ่มดำเนินการในการพัฒนา ICT
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICT เพื่อการศึกษา อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต่อมาส่งผลให้การพัฒนา
ICT เพื่อการศึกษาเกิดการชะงักตัว เนื่องมาจากงบประมาณที่จำกัด เรื่อยมา จนปี พ.ศ.2545 การ
พัฒนา ICT เพื่อการศึกษาเริ่มกลับมาเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายอีกครั้ง นับจากวัน
นั้นเป็นต้นมา หลายหน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยได้มีการลงทุนทั้ง
ในแง่ของงบประมาณ เวลา และความพยายามในการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษา ทั้งในระดับการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่การพัฒนาดังกล่าวยังคงเป็นไป
ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ต่างคนต่างพัฒนา ตามบริบทและความพร้อมขององค์กรแต่ละแห่ง ขาด
ซึ่งทิศทางที่ชัดเจนสำหรับการวางแผนระยะยาว ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนเสียเปล่า การ
พัฒนา ICT ในสถาบันการศึกษาในลักษณะดังกล่าว จึงนอกจากจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่า คุ้ม
ทุนแล้ว ยังส่งผลให้การยอมรับของครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ในการนำ ICT มาใช้ให้เกิด
ประโยชน์อย่างจริงจังเกิดขึ้นอย่างจำกัดเพียงในวงแคบๆ เท่านั้น อันที่จริง การที่ ICT จะสามารถ
เปลี่ยนผ่านจากระยะเริ่มต้น (initiation phase) ยอมรับนวัตกรรม ไปสู่ระยะแห่งการจุดไฟ และระยะ
แห่งการเติบโต (firelight phase and growth phase) ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า
จะเป็น นโยบายระดับภูมิภาค นโยบายรัฐ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่มีความสำคัญมากที่สุดฝ่ายหนึ่งในขณะนี้ อาจได้แก่ ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการ
กำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งการ
ควบคุมดูแลให้การบริหารจัดการเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้
บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อนำเสนอตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีในการกำหนดนโยบายและทิศ
ทางการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษา โดยในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างของการพัฒนา
e-Learning ของประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาการใช้
เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา (ICT in Education) ประเทศหนึ่งในปัจจุบัน ตัวอย่างของ
การวางแผน รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มี
ส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการกำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาในบ้านเรา
ได้เข้าใจและนำแบบอย่างที่ดีไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติต่อไป
นโยบายการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษา
• วาระแห่งชาติเกาหลีใต้
แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้จะประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศ
ไทย แต่ในขณะนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ประเทศเกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในเอเชีย
ที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก การศึกษา นับได้ว่า
เป็นส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาดังกล่าว เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศ
อันดับสอง รองจากประเทศฟินแลนด์เท่านั้น ที่มีการพัฒนาการใช  ICT เพื่อการศึกษาในลักษณะทั้ง
ระบบ (systemic) ไม่ว่าจะเป็นในระดับโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา การ
พัฒนาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด หากเกิดจากการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากแผน
ของการพัฒนาระยะยาว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ในระยะแรก (2540-2543) รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พัฒนาแผนการพัฒนาไอซีทีเพื่อการศึกษาขึ้น ที่
มีชื่อว่า Comprehensive Plan for ICT in Education (CPIE) หนึ่งในนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี
ความท้าทายมาก และถือได้ว่าเป็นเสาหลักของการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การมุ่งสู่การเป็น
ประเทศที่มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายมากที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาสาธารณูปโภคที่
เกี่ยวข้อง การทำให้ทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ ในขณะเดียวกัน
มีการพัฒนาผู้สอนทุกคนให้ใช้ ICT และการริเริ่มโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์
ในระยะที่สอง (2544-2547) ได้เริ่มมุ่งเน้นทางด้านของการใช้ ICT ในหลักสูตรการเรียนการ
สอน มีการพัฒนาศูนย์การเรียนการสอน และห้องสมุด ทั้งในระดับรัฐ ท้องถิ่น และโรงเรียน ที่สำคัญ
มีโครงการในลักษณะที่เป็นการสร้างคลังของหลักการปฏิบัติที่ดี (best practices) สำหรับผู้สอนเพื่อ
การเผยแพร่และแบ่งปันสารสนเทศร่วมกัน ในขณะเดียวกันบริการพัฒนาผู้สอนทุกคนให้ใช้ ICT
ระยะที่สอง (ต่อเนื่องจากระยะที่หนึ่ง) นอกจากนี้ เกิดแผนการพัฒนาระดับชาติขึ้น ชื่อว่า แผนการลด
จำนวนการเรียนพิเศษหลังเรียนของนักเรียน ด้วยระบบออกอากาศทางการศึกษา หรือ Master plan
for reducing private tutoring with Educational Broadcasting System (EBS) ซึ่งถือเป็นแผนสำคัญใน
การทำให้เกิดการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาอย่างยั่งยืน
สำหรับในระยะที่สาม (2548-ปัจจุบัน) จุดมุ่งเน้นของแผนพัฒนา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอย่าง
เป็นระบบของการศึกษาในโรงเรียนและอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นผู้
กำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตนเอง รวมถึงการมองไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น อันได้แก่ ulearning
(ubiquitous learning) นอกเหนือจาก e-learning ในการจัดการเรียนการสอน
นอกจากแผนพัฒนาที่ชัดเจน โดยมีการลงรายละเอียดไปถึงแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญ
ได้แก่ การกำหนดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ผู้มีส่วนได้ส่วน
เสียของ Comprehensive Plan for ICT in Education (CPIE) ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการและ
ทรัพยากรบุคคล รวมทั้งกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสารสนเทศ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากร
โดยแผนดังกล่าวไม่ใช่ถือเป็นเพียงแผนการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการ
เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของชาติ ทั้งระบบด้วยไอที โดยมีการสร้างให้เกิดการยอมรับร่วมกันว่า
การลงทุนด้าน ICT รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในด้าน ICT เป็นหนึ่งทางเลือกที่ดี เป็นทิศทาง
ในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ไปสู่สังคม/เศรษฐกิจบนฐานความรู้ของประเทศ นอกจากนี้ มีการ
ตกลงร่วมกันในการส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อการศึกษา ไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาล แต่รวมถึงบริษัท
หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 3 แห่งของประเทศ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 แห่ง
ได้ร่วมกันรณรงค์ในระดับประเทศในการส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อการศึกษา มีการแบ่งความ
รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน โดยแต่ละบริษัทเลือกรับผิดชอบการรณรงค์แต่ละระดับ (ประถมศึกษา
มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา) โดยการรณรงค์ใช้วิธีการในลักษณะเดียวกันกับการโฆษณา และที่สำคัญ
คือ การให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ ความเข้า และตระหนักถึงความสำคัญของการมี การใช้ ICT เพื่อ
การศึกษาเรียนรู้ หลังจากการเข้าร่วมการพัฒนาฯของหนังสือพิมพ์แล้ว ค่ายโทรทัศน์ต่างๆ รวมทั้ง
องค์กรด้าน NGOs หลายแห่งได้เข้าร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาดังกล่าว จึงเกิดภาพความร่วมมือ
สำคัญ 3 ฝ่าย อันได้แด่ 1) รัฐบาล 2) สื่อ NGOs พร้อมด้วย 3) หน่วยงานด้านการศึกษา ขึ้น จากนั้น
บริษัททางด้านไอทีต่างหันมาร่วมมือกันดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ไปพร้อมๆ
กัน ทำให้การพัฒนาดังกล่าวประสบความสำเร็จตามแผนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญอีก
ประการ คือ สาเหตุของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันสาเหตุหนึ่งได้แก่ แผนการพัฒนา ชื่อ
Master plan for reducing private tutoring with Educational Broadcasting System (EBS) นั่นเอง
เกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในส่วนที่ ผู้ปกครองกลุ่มที่มีความพร้อมในเกาหลีใต้จะ
ยอมทุ่มเททุกสิ่งเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน มีการส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ โดยยอมเสียค่าใช้จ่าย
ที่สูง (มาก) รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาการลงทุนทางด้านการศึกษาในลักษณะ
ดังกล่าวด้วย การพัฒนาแผน e-Learning สำหรับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดย
มีการระดมครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มาเปิดการ
สอนในระบบ EBS แทนการเปิดสอนติวเตอร์เอง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการ
สอนของครูอาจารย์ดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ปกครองพอใจที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ในการจ่ายค่าติวเตอร์แล้วนั้น ยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างการเข้าถึงการศึกษาระหว่างกลุ่มคนมี
ฐานะดี ที่สามารถเข้าถึงครูผู้สอนที่มีชื่อเสียง และกลุ่มที่ขาดแคลนและขาดโอกาสการเข้าถึงครูผู้สอน
ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ ของการนโยบายการพัฒนา ICT ของประเทศเกาหลี
ใต้ ได้แก่ ความชัดเจนในเรื่องบทบาทของ ICT ในแต่ละระยะของการพัฒนา เป็นที่ชัดเจนว่า ข้อ
ได้เปรียบหลักๆ ของ ICT ได้แก่ ความสามารถในการช่วยให้การสื่อสารของผู้คนในสังคมเป็นไป
อย่างไร้ข้อจำกัด รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่หลากหลายอย่างสะดวกสบาย ในแต่ละระยะ
ของการพัฒนาฯนั้น เกาหลีใต้มีการกำหนดบทบาทของ ICT ไว้อย่างชัดเจน เช่น ในระยะแรกของการ
พัฒนาฯนั้น ICT เองถือว่าเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง กล่าวคือ การมุ่งเน้นการพัฒนาจะอยู่ที่ ความ
ตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญและข้อได้เปรียบของ ICT เพื่อการศึกษาจากความชัดเจนดังกล่าวทำ
ให้เกิดการยอมรับและความร่วมมือท่ามกลางทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมา
นอกจากนี้ สำหรับระยะที่สองนั้น มีการกำหนดบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของ ICT ไปสู่การ
เป็นวิธีการหนึ่งในการรวบรวมและเผยแพร่และแบ่งปันสารสนเทศร่วมกันของประเทศ รวมทั้งการ
สร้างคลังของหลักปฏิบัติที่ดีขึ้นเพื่อใช้ร่วมกัน ในระยะนี้ ครอบคลุมการส่งเสริมให้เกิดชุมชนการ
เรียนรู้ออนไลน์สำหรับครู ผู้สอน นักการศึกษา สำหรับบทบาทของ ICT ในแผนพัฒนาปัจจุบัน หรือ
ในระยะที่ 3 นั้น มีการกำหนดบทบาทสำคัญ ได้แก่ การมอง ICT เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการ
เรียนรู้ด้วยตนเองของคนในสังคมไม่จำกัดเฉพาะผู้เรียนเท่านั้น เน้นการสร้างเนื้อหา (คอนเทนต์) ด้วย
ตนเอง โดยในระยะนี้ นโยบายจากส่วนกลางจะเริ่มลดลง การพัฒนาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นให้เกิดจาก
ชุมชนและท้องถิ่นเองเป็นหลัก
บทสรุป
จากที่ไดก้ ล่าวถึงนโบายในการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษา กรณีศึกษาของเกาหลีใตนั้น
สามารถสรุปได้ว่า ความสำเร็จในการพัฒนานโยบายการพัฒนา ICT ของประเทศเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับ
ความจริงจังในการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยการถือเอาการพัฒนาดังกล่าวในเรื่องดังกล่าวเป็น
วาระแห่งชาติ มีผู้นำระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา
และพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งรัฐมนตรี
กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างแข่งขันกันในการสร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ICT ในด้าน
ต่างๆ ที่ตนเองรับผิดชอบ การดึงภาคเอกชน โดยเฉพาะสื่อมวลชน NGOs บริษัทไอทีต่างๆ เข้ามาเป็น
ส่วนหนึ่งของการพัฒนา รวมทั้งการไม่มองข้ามในเรื่องการส่งเสริมให้มีโครงการในลักษณะที่มี
ผลกระทบต่อความต้องการต่อชุมชนโดยภาพรวม เช่น การพัฒนา ICT เพื่อช่วยผู้ปกครองในด้าน
การศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งการส่งเสริมในเรื่องที่สำคัญมาก ได้แก่ การสร้างคลังความรู้ของการ
ปฏิบัติที่ดี และการพัฒนาวิชาชีพ/การอบรมครูผู้สอนไปพร้อมๆ ไปกับแผนการพัฒนา ตั้งแต่เริ่มต้น
สำหรับบ้านเรานั้น ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและ
ทิศทางของการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาของประเทศไทยท่านใหม่ คงจะมีความรู้ความสามารถ
รวมทั้งความจริงจังและจริงใจในการดำเนินการวางนโยบาย กำกับ และติดตามการวางแผน ด้านการ
พัฒนา ICT เพื่อการศึกษาของชาติ เพื่อให้เกิดทิศทางการพัฒนา ICT ในบ้านเราร่วมกันระหว่าง
หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า คุ้มทุน และยั่งยืน บน
พื้นฐานของบริบท เศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้แบบไทยๆ ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้
ของผู้เรียน ครู และการเรียนการสอน เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่เข้มแข้งของประเทศ ซึ่งถือเป็น
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาในที่สุด

การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนรูปแบบและทฤษฎีการเรียนรู้แห่งอนาคต รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง

1
การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนรูปแบบและทฤษฎีการเรียนรู้อนาคต
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง
ผอ.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ในขณะที่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
แต่การพัฒนาของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้กลับมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างค่อยเป็นค่อย
ไป สังเกตได้จากปริมาณที่จำกัดของข้อค้นพบ หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ อันเกิดจากงานวิจัย ซึ่ง
ครอบคลุม หลักการ ทฤษฎี และ นวัตกรรมรูปแบบการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการ
เรียนรู้ของมนุษย์ ที่ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดผลต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผลของผู้เรียนในปัจจุบัน สาเหตุหลัก อาจได้แก่ ข้อจำกัดในการแสวงหาคำตอบของ
คำถามที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
เพียงมิติเดียว กอปรกับ การที่ศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง
กับ การทำงานของสมองนั้น เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานของงานวิจัย ที่มี
การดำเนินการในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมา ยังพอมีข้อค้นพบใหม่ๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
ของมนุษย์ อันมีประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน การอบรม ทั้งนี้เพื่อการ
พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
บทความนี้ จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคต ครอบคลุม การจัด
สิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นทักษะการคิดและกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผ่าน
สื่อคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคม หรือที่เรียกว่า ไอซีที รวมทั้งการนำเสนอ ทฤษฎีการ
เรียนรู้ใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในยุคหน้า ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้ จะช่วยให้
ผู้รับผิดชอบในการวางแผน และดำเนินการผลิตครูผู้สอนทั้งในยุคนี้ (ครูประจำการ) และในยุคสมัย
หน้า (ว่าที่ครู) ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการปรับมาตรฐาน
การพัฒนาวิชาชีพครูให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในยุคใหม่ให้มากยิ่งขึ้น และ การปรับปรุงหลักสูตร
ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูพันธุ์ใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
รูปแบบและทฤษฎีการเรียนรู้แห่งอนาคต
ในส่วนแรกนี้ จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ รูปแบบการเรียนรู้ที่สำคัญในอนาคต ภาพ 1
แสดงให้เห็นถึง รูปแบบการเรียนรู้ 3 ลักษณะ (จากซ้ายไปขวา) ได้แก่ 1) การเรียนรู้ในลักษณะที่มี
ครูผู้สอนเป็นผู้ศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการถ่ายทอดจากผู้สอนสู่ผู้เรียน 2) การเรียนรู้
ในลักษณะที่เน้นความร่วมมือกัน กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้ง
ผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน และ/หรือชุมชนของการเรียนรู้ และ 3) การเรียนรู้ในลักษณะที่
คล้ายคลึงกันกับลักษณะที่สอง แต่มีการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ทรัพยากร
2
การเรียนรู้ แหล่งสื่อต่างๆ ทั้งในรูปดิจิตัลและไม่ใช่ดิจิตัล รวมถึงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
ในลักษณะที่สร้างฐานความรู้ให้แก่ผู้เรียน (knowledge scaffolding)
ภาพ 1: ภาพแสดงการเปรียบเทียบรูปแบบการเรียนรู้ใน 3 ลักษณะ
แนวโน้มของรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตนั้น ได้แก่ การผสมผสานระหว่างรูปแบบการ
เรียนรู้ทั้ง 3 ลักษณะอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญได้แก่ ความพยายามของครูผู้สอน (และผู้เรียน) ในการ
ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอนและการเรียนรู้จากรูปแบบที่ 1 มาสู่รูปแบบที่ 2 และ 3 ให้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการสอนและการเรียนรู้ในลักษณะที่ 3 นั้นเป็นรูปแบบที่ครูผู้สอน
จำเป็นต้องให้ความสนใจ เพราะ มีหลักฐานงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า เป็นรูปแบบการเรียนรู้
ที่มีประสิทธิภาพมากหากผู้สอนมีการออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ
กัน พร้อมไปกับการจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ และการสร้างฐานความรู้ให้กับผู้เรียนที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี การจัดรูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะที่ 3 นั้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะด้านไอซีทีที่
เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการพัฒนาสื่อ การจัดหาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้กับผู้เรียน ดังนั้นการพัฒนาทักษะ
ด้านไอซีทีแก่ผู้สอน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต สำหรับผู้เรียนนั้น ทักษะด้านไอซีทีอาจ
ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะ ผู้เรียนในอนาคต1 จะสามารถปรับตัวกับรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตได้
อย่างรวดเร็ว(กว่าผู้สอน) เนื่องจากความเคยชินจากสังคมรอบตัวที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา
ในการพัฒนาทักษะครูผู้สอนด้านไอซีทีนั้น นอกจากในการอบรมทักษะให้ครูผู้สอน
สามารถสร้างและ/ หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเนื้อหาการเรียนรู้ในรูปดิจิตัลแล้ว ครูผู้สอน
ควรมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้ ศักยภาพของการนำไอซีทีไปใช้ในลักษณะของ
เครื่องมือ (tool) การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ซึ่งเน้นทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียนตัวอย่าง เช่น
การใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้เรียน เพื่อน และผู้สอน เกิดการปฏิสัมพันธ์ อภิปราย แลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นเชิงวิพากษ์อย่างยืดหยุ่น โดยไม่จำกัดด้านเวลาและสถานที่ หรือ การออกแบบกิจกรรม
การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่เน้นทักษะกระบวนการคิดผ่านทางการใช้ไอซีที เช่น การสรุปความคิด
1 ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนในยุคทวีนนี่ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงที่การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นทีแพร่หลายแล้ว ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับ
ผู้เรียนในยุคทวีนนี่ ได้ จากตอน 2 ของบทความ การเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า : ตอนคุณลักษณะที่จำเป็นของผู้เรียนยุคทวีนนี่ (Tweenies)
3
รวบยอดโดยใช้ซอฟต์แวร์ช่วยการวางแผน หรือ การคิดวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ จากโปรแกรม
ฐานข้อมูลด้านต่างๆ เป็นต้น
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญของอนาคต
ในส่วนนี้ จะขอกล่าวถึง ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญในอนาคต 3 ทฤษฎี อันได้แก่
1) การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2) การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based
Learning) และ 3) ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism)
1) การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ทฤษฎี การเรียนรู้แบบร่วมมือกัน เกิดจากแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการเรียน
จากครูผู้สอนเท่านั้น หากเกิดจาก การที่ผู้เรียนร่วมมือกับผู้สอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง กับเพื่อน
หรือกับชุมชนการเรียนรู้ของตน ภายใต้เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน ตาราง 1 เปรียบเทียบทฤษฎีการ
เรียนรู้แบบดั้งเดิม กับ การเรียนรู้แบบร่วมมือกันที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี คงต้องย้ำใน
ที่นี้ว่า บทความนี้ไม่ต้องการนำเสนอความคิดที่ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แบบดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ล้าสมัย
และไม่ควรนำไปใช้ หากแต่ครูผู้สอนที่ดี ควรรู้จักเลือกผสมผสานระหว่างทั้ง 2 ทฤษฎี/ วิธีการให้
มากขึ้น หลีกเลี่ยงการสอนที่มุ่งเน้นเฉพาะลักษณะใดลักษณะหนึ่ง รวมทั้งตระหนักว่า แนวโน้มของ
ทฤษฎี การเรียนรู้ในอนาคตนั้น จะอยู่ในลักษณะของการเรียนรู้แบบร่วมมือกันที่มีผู้เรียนเป็น
ศูนย์กลาง
การเปรียบเทียบการสอนแบบดั้งเดิม และ การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การสอนแบบดั้งเดิม การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
สิ่งแวดล้อมที่ครูเป็นศูนย์กลาง สิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ครูเป็นผู้ควบคุมการเรียนการสอน ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง
ส่วนใหญ่อำนาจและความรับผิดชอบอยู่ที่ครู ส่วนใหญ่อำนาจและความรับผิดชอบอยู่ที่
ผู้เรียน
ครูเป็นผู้สอนและผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อหาการ
เรียนรู้
ครูเป็นผู้สนับสนุนและคอยแนะนำ ผู้เรียนเป็นผู้
ตัดสินใจเลือกเนื้อหาการเรียนรู้
ธรรมชาติของประสบการณ์การเรียนบ่อยครั้งอยู่
ในลักษณะของการแข่งขันระหว่างผู้เรียน
ด้วยกัน ผู้เรียนจะไม่พอใจหากผู้เรียนคนอื่น
ลอกเลียนแบบ (copy) ความคิดของตนเอง
การเรียนรู้อาจอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่ม (ร่วมมือ
กันหรือ โดยอิสระก็ตาม) ผู้เรียนทำงานด้วยกัน
เพื่อเป้าหมายร่วมกัน ผู้เรียนเต็มใจที่จะช่วยซึ่ง
กันและกันในการแลกเปลี่ยนทักษะและแนวคิด
ผู้เรียนแข่งขันกับความสามารถเดิมของตน
4
การเปรียบเทียบการสอนแบบดั้งเดิม และ การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การสอนแบบดั้งเดิม การเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ลักษณะของงาน อยู่ในรูปของชุดของภาระงาน
ย่อยๆ ที่ผู้สอนกำหนดให้ ภายใต้สาระวิชาที่แยก
ออกจากกันค่อนข้างชัดเจน
ลักษณะของงานอยู่ในรูปของโครงงานหรือ
โจทย์ปัญหาจากสภาพจริง และมีการบูรณาการ
สาระวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน
การเรียนรู้เกิดขึ้นในชั้นเรียน การเรียนรู้ขยายขอบเขตจากชั้นเรียนออกไป
เนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่กระบวนการที่ผู้เรียนเกิดการ
ประมวลผล ข้อมูล สารสนเทศ และการนำผลที่
ได้จากการวิเคราะห์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ผู้เรียนได้รับความรู้จากการฝึกและการปฏิบัติ ผู้เรียนประเมิน ตัดสินใจ และรับผิดชอบการ
เรียนรู้ของตนเอง ผู้เรียนได้รับความรู้โดยการ
สร้างความรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้เนื้อหาไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตาม
บริบท
การเรียนรู้เนื้อหาการเรียนเกิดขึ้นในบริบทที่
เกี่ยวข้อง
ตาราง 1: ตารางเปรียบเทียบการสอนแบบดั้งเดิมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
2) การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based learning)
ทฤษฎีการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน2 เป็นทฤษฎีซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า คนเกิดมาพร้อมกับ
จำนวนเซลสมองที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การขยายตัวของสมองไม่ได้เกิดจากการเพิ่มจำนวนเซล
ของสมอง แต่มาจาก “ใยประสาท” สมองของคนเรานั้น มีความยืดหยุ่น หากเราใช้สมองในการ
แก้ไขปัญหา สมองก็จะมีการสร้างใยประสาทเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้ใยประสาทก็จะถูกทำลายลง
ในการประยุกต์ทฤษฎีนี้สู่การปฏิบัตินั้น คงต้องทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สมอง
กับการเรียนรู้ กล่าวคือ สมองมีการเชื่อมโยงกับอารมณ์ของคน ในขณะที่อารมณ์ของคนก็จะส่งผล
ต่อการเรียนรู้ โดยอารมณ์จะเป็นตัวช่วยเราในการเรียกความทรงจำเดิมที่เก็บไว้ในสมองออกมาใช้
สำหรับภาวะของสมองที่เหมาะสมที่สุดต่อการเรียนรู้ ได้แก่ ภาวะของสมองที่มี ความตื่นตัวแบบ
ผ่อนคลาย (Relaxed alertness) ดังนั้น ครูผู้สอนจึงมีหน้าที่ในการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้แก่
ผู้เรียนในลักษณะที่ทันสมัย เพลิดเพลิน แตท่ ้าท้ายและชวนใหห้ าคำตอบ เพื่อกระตุน้ ให้ผู้เรียนเกิด
การตื่นตัวแบบผ่อนคลาย มากกว่าความรู้สึกเครียด กังวลและกดดัน เพราะสิ่งแวดล้อมดังกล่าว อาจ
ทำให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ทางลบแก่ผู้เรียนได้ รวมทั้ง แนวคิดที่สำคัญ จากทฤษฎีการเรียนรู้โดย
ใช้สมองเป็นฐาน ได้แก่ การที่การเรียนรู้ของคนจะประสบความสำเร็จที่สุดเมื่อกิจกรรมการเรียนรู้
2 อ้างอิงจาก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) กับการสร้างเด็กเก่ง (www.se-edlearning.com)
5
เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้ เพราะคนเราจะ
จำสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำที่สุดเมื่อข้อเท็จจริงต่าง ๆ และทักษะฝังอยู่ในจากกิจกรรมในชีวิตจริงตาม
ธรรมชาติ เพราะเป็นการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ตรง
นอกจากนี้ จากการแบ่งสมองออกเป็น 2 ด้าน คือ สมองซีกซ้ายซึ่งสั่งการเกี่ยวกับ ตรรกะ
ตัวเลข การวิเคราะห์ และสมองซีกขวาซึ่งสั่งการเกี่ยวกับ ศิลปะ ดนตรี จินตนาการ การสังเคราะห์
ทำให้เราเข้าใจถึงความสามารถที่แตกต่างกันของการทำงานของสมองทั้งสองซีกของผู้เรียน ซึ่ง
ส่งผลถึงการมีสติปัญญา วิธีการ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ
การที่ผู้สอนควรมีการจัดหากิจกรรมที่บูรณาการระหว่างกิจกรรมหลายๆ รูปแบบเข้าด้วยกัน และ
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นเป็นผู้เลือกที่จะทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งตามความสามารถ ความถนัด
และความสนใจ เช่น การให้เลือกที่จะนำเสนอผลงานในรูปแบบที่ผู้เรียนมีความถนัด เช่น แต่งเรื่อง
แต่งเพลง เล่นดนตรี ผลิตสื่อนำเสนอ ทำรายงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้
ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ตามอัตราความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของผู้เรียน
3) คอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism)
ทฤษฎีการเรียนรู้ คอนสตรัคติวิสต์ เกิดจากแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนเป็น
ผู้ลงมือกระทำ และสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า การเรียนเชิงรับของผู้เรียนจากการถ่ายทอดของ
ครูผู้สอน การลงมือกระทำและสร้างสรรค์ผลงานนั้น เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมกับ
กิจกรรมการเรียนรู้นั้นๆ อย่างกระตือรือร้นจนกระทั่งผู้เรียนเกิดการสร้างความหมาย ความเข้าใจ
และในที่สุดสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่
ผู้เรียนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นเองและเป็นสิ่งเฉพาะตัว ดังนั้นการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์
จึงถือเป็นการเรียนรู้ในลักษณะที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ทฤษฎีคอน
สตรัคติวิสต์จะมุ่งเน้นการสำรวจ การแสวงหาความรู้ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และการ
คิดแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านทางกิจกรรมที่ใกล้เคียง หรือเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงๆ เพื่อให้
ผู้เรียนสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้จากชั้นเรียนไปสู่สถานการณ์จริงได้ นอกจากนี้ คอนสตรัคติวิสต์
จะเน้นการเรียนรู้ในลักษณะร่วมมือ กล่าวคือ ผู้เรียนจะต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับผู้เรียนอื่นๆ
ในการสร้างงานต่างๆ ร่วมกัน สำหรับการประเมินผลตามแนวคอนสตรัคติวิสต์นี้ จะ เน้นการให้
ผู้เรียนรู้จักประเมินผลความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเอง ร่วมไปกับการที่ผู้สอนจะต้องคอย
สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในขณะทำกิจกรรม รวมทั้งการประเมินจากพอร์ทโฟลิโอซึ่งได้แก่
ชิ้นงานต่างๆ ที่ผู้เรียนได้มีการรวบรวมไว้ ซึ่งชิ้นงานดังกล่าวจะต้องสะท้อนความสามารถที่แท้จริง
ของผู้เรียน อันที่จริง คอนสตรัคติวิสต์ ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด เพราะเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว
แต่ผลของการนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาในบ้านเรานั้น ยังค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ
ข้อจำกัดในด้านต่างๆ เช่น ขนาดของชั้นเรียน ภาระงานของครูผู้สอน ตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี เป็นต้น
6
จากที่ได้กล่าวมานั้น จะเห็นได้ชัดว่า ทฤษฎี/รูปแบบการเรียนรู้ทั้งหมด ที่ได้กล่าวถึงนั้น มี
ความคาบเกี่ยวกันอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎี/รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตเกือบทั้งหมด จะ
มุ่งเน้น ในด้านการเรียนรู้ในลักษณะร่วมมือและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการใช้สื่อที่
หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สื่อไอซีที อย่างไรก็ตาม แต่ละรูปแบบ/ทฤษฎีนั้น ก็จะมีข้อ
แตกต่างในรายละเอียดบางประการ ตัวอย่างเช่น การมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างทำ สร้างองค์ความรู้/
ชิ้นงานของทฤษฎี คอนสตรัคติวิสต์ หรือ การมุ่งเน้นในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
สำหรับผู้เรียน อันเนื่องมาจากความแตกต่างในด้านของสติปัญญา วิธีการและประสิทธิภาพการ
เรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของสมอง เป็นต้น
บทสรุป
บทความนี้ได้นำเสนอถึง รูปแบบและทฤษฏีการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้
แบบร่วมมือกันของผู้เรียน ภายใต้การที่ผู้สอนวางฐานความรู้ (knowledge scaffolding) ให้กับผู้เรียน
อย่างเหมาะสม ผ่านการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ รวมทั้ง มุ่งเน้น การออกแบบกิจกรรม
การเรียนรู้ของผู้สอน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นรูปธรรมและสามารถ
ถ่ายโอนการเรียนรู้จากชั้นเรียนไปสู่สถานการณ์จริงได้
สุดท้ายนี้ จากที่ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในยุคสมัยหน้า ทั้ง 3 ตอน ซึ่ง
ครอบคลุม แนวคิดเกี่ยวกับ รูปแบบ/ทฤษฎีการเรียนรู้ (ที่ได้นำเสนอในบทความนี้) บทบาท และ
คุณลักษณะของผู้สอนในยุคสมัยหน้า (บทความตอน 1) และ ของผู้เรียนในยุคสมัยหน้า (บทความ
ตอน 2) ไปแล้วนั้น ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญมากที่สุด ในการปฏิรูปการศึกษา การปรับเปลี่ยน
วิธีการสอน และการเรียนรูใ้ ห้ตอบสนองกับสังคม/ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการ
เรียนรู้ในยุคสมัยหน้าที่กำลังจะตามมา (next-generation of learning) นั้น ได้แก่ ความพร้อมของ
ผู้สอน และผู้เรียน ในการตอบสนองกับวิธีการสอนและการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในการปรับ
การเรียนเปลี่ยนการสอนของทั้งผู้สอนและผู้เรียนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องอาศัย เวลา ความพยายาม
งบประมาณ รวมทั้ง ความร่วมมือร่วมใจ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สถานศึกษา ชุมชน
ผู้บริหาร รัฐบาล เป็นต้น